เข้าใจ ‘ไบโพลาร์’ บางครั้งอารมณ์ดี บางครั้งซึมเศร้า

30 มีนาคม “วันไบโพลาร์โลก” (World bipolar day) กำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักสร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดใจให้กับ “โรคไบโพลาร์” หรือ โรคอารมณ์ 2 ขั้ว ซึ่งสาเหตุสำคัญ คือ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง อาการมีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ ร่าเริงผิดปกติ ไม่หลับ ไม่นอน พูดมาก พูดเร็ว เชื่อมั่นในตัวเองสูง อารมณ์เศร้าผิดปกติ ไม่อยากพบใคร ไม่อยากทำอะไร คิดลบ คิดช้า ไม่มีสมาธิ คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า อาจคิดฆ่าตัวตายได้

ขณะเดียวกัน ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษา คอยให้กำลังใจ สังเกตอาการ ควบคุมกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำในช่วง Mania และคอยรับฟังผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ

รู้จัก ไบโพลาร์

“โรคไบโพลาร์” (Bipolar disorder) หรือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายไว้ว่า เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ประเภทหนึ่ง ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา ระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania)

โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายเดือน โดยอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านการงาน การประกอบอาชีพ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และการดูแลตนเองอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

จากการสำรวจผู้ป่วย “โรคไบโพลาร์” ในประชากรทั่วไป พบได้สูงถึงร้อยละ 1.5 -5 ซึ่งอัตราการเกิดโรคครั้งแรกพบบ่อยที่สุดที่ช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี นอกจากนี้ “โรคไบโพลาร์” ถือเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคในระยะยาวเรื้อรัง และเป็นโรคที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง ประมาณ 70-90%

ไบโพลาร์ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบว่าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล โรคนี้มีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือโรคทางจิตเวชอื่น จะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป ส่วนสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือความเครียด มักเป็นเพียงปัจจัยเสริม

สังเกตอาการผิดปกติ

หลายคนอาจสงสัยว่าคนปกติก็ต้องมี การขึ้นลงของอารมณ์มากบ้าง น้อยบ้าง ตามนิสัย แล้วเมื่อไหร่จึงจะเรียกว่าผิดปกติหรือเป็นโรค การที่บอกว่าป่วยแน่นอนต้องใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ แต่ทั่วไปเราควรคำนึงถึงโรคนี้ และไปปรึกษาจิตแพทย์เมื่อ

  • การขึ้นลงของอารมณ์มากกว่าคนทั่วไป
  • มีความผิดปกติของการกินการนอนร่วมด้วย
  • มีอาการเหล่านี้เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
  • กระทบต่อการทำงาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

อาการ “ไบโพลาร์” เป็นอย่างไร

1.ช่วงอารมณ์ซึมเศร้า

  • อาจมีเบื่อหน่าย
  • ท้อแท้ไม่อยากทำอะไร
  • หรือหงุดหงิดง่าย
  • บางคนมีความคิดอยากตายซึ่งมีไม่น้อยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

2.ช่วงที่อารมณ์ดีผิดปกติ

  • รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญหรือความสามารถมาก
  • นอนน้อยกว่าปกติ โดยไม่มีอาการเพลีย หรือต้องการนอนเพิ่ม
  • พูดเร็ว พูดมาก หรือพูดไม่หยุด
  • ความคิดแล่นเร็ว มีหลายความคิดเข้าในสมอง
  • สมาธิลดลง เปลี่ยนความสนใจ เปลี่ยนเรื่องพูด หรือทำอย่างรวดเร็วตอบสนองต่อสิ่งเร้าง่าย
  • มีกิจกรรมมากผิดปกติ อาจเป็นแผนการหรือลงมือกระทำจริงๆ แต่มักทำได้ไม่ดี
  • การตัดสินใจไม่เหมาะสม เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ทำเรื่องที่อันตราย หรือผิดกฎหมาย
  • บางคนจะหงุดหงิดก้าวร้าวจนถึงทะเลาะทำร้ายร่างกายผู้อื่น
  • ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการของโรคจิตร่วมด้วย เช่น คิดว่าตนเองเป็นเทวดา หรือมีความสามารถผิดมนุษย์ ได้ยินเสียงหรือเห็นภาพที่คนอื่นไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างไร

  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการอดนอนมีผลต่ออาการของผู้ป่วย
  • ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ออกกำลังกาย มีกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด หลีกเลี่ยงสุราสารเสพติด
  • รับประทานยาตามจิตแพทย์สั่ง ถ้ามีปัญหา ผลข้างเคียงจากยา ควรปรึกษาจิตแพทย์ก่อน ไม่ควรหยุดยาเอง
  • หมั่นสังเกตอาการของตนเอง เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบไปพบจิตแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก
  • บอกคนใกล้ชิดถึงอาการเริ่มแรกของโรคให้ช่วยสังเกตและพาไปพบจิตแพทย์

ครอบครัวจะช่วยได้อย่างไร

  • เข้าใจอารมณ์และพฤติกรรมผิดปกติที่ผู้ป่วยแสดงออกนั้นเป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัย
  • ดูแลให้ผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของจิตแพทย์และไม่ควรหยุดยาเอง
  • สังเกตอาการของผู้ป่วย เรียนรู้และเข้าใจอาการของโรค หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ ควรรีบพาไปจบจิตแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก
  • ช่วยควบคุมเรื่องของการใช้จ่ายและพฤติกรรมเสี่ยงต่ออันตราย เช่น ดื่มสุรา การใช้สารเสพติด
  • เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการ ให้กำลังใจในการกลับไปเรียนหรือทำงาน หรือหากิจกรรมที่ผ่อนคลายที่มีประโยชน์ให้ผู้ป่วย

การรักษา

  • จิตแพทย์จะให้ยาและคำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วย
  • ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการใน 2-8 สัปดาห์ และกลับใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนก่อนป่วย
  • ในผู้ป่วยบางรายจิตแพทย์อาจแนะนำให้ทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อให้จัดการกับความเครียดได้ดีขึ้นและลดความขัดแย้ง

ทั้งนี้ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุลจึงต้องใช้ยาที่จะปรับสารสื่อประสาท ปัจจุบันมียาควบคุมอารมณ์หลายชนิดที่มีประสิทธิภาพ ยาในกลุ่มนี้ไม่ใช่ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับไม่ทำให้ติดยาเมื่อใช้ในระยะยาว นอกจากยาควบคุมอารมณ์ จิตแพทย์อาจใช้ยากลุ่มอื่นร่วมด้วยเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้น

ยาทางจิตเวชก็เหมือนกับยาอื่นที่ทุกตัวจะมีผลข้างเคียง แต่อาการและความรุนแรงจะต่างกัน ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายมากผู้ป่วยควรได้พูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อเลือกยาที่เหมาะสม และปรึกษาจิตแพทย์ ถ้ามีอาการข้างเคียงเนื่องจากยาทุกตัวไม่ปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตรควรปรึกษาจิตแพทย์ก่อน

โรคนี้มีอัตราการกลับเป็นซ้ำสูงมากถึง 90% ฉะนั้นโดยทั่วไปหลังจากหายแล้ว จิตแพทย์มักแนะนำให้กินยาต่ออย่างน้อย 1 ปี เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำหรืออาจนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่เคยเป็นและความรุนแรงของอาการในครั้งก่อนๆ

ไบโพลาร์ หายเองได้หรือไม่

ถ้าไม่รักษาอาการต่างๆ ก็อาจดีขึ้นเองได้ในบางราย แต่ต้องใช้เวลานาน และกว่าอาการจะดีขึ้น ก็จะส่งผลกระทบมากมายทั้งต่อตัวผู้ป่วยและคนรอบข้าง บางคนก่อหนี้สินมากมาย บางคนใช้สารเสพติดบางคนต้องออกจากงานหรือโรงเรียน บางคนทำผิดกฎหมาย และที่รุนแรงที่สุด คือ ฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายผู้อื่น และถ้าเป็นหลายหลายครั้ง อาการครั้งหลังจะเป็นนานขึ้นและถี่ขึ้น

ที่มา : www.bangkokbiznews.com/health

ติดตามเรา

spot_img

Related Articles