เมื่อไหร่ที่ไม่ควรออกกำลังกาย?

การออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอจะซาบซึ้งในความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี บางคนบอกว่าการออกกำลังกายเหมือนยาเสพติดชนิดหนึ่ง เพราะถ้าประพฤติปฏิบัติจนเป็นกิจวัตรหรือเป็นนิสัยแล้ว หากไม่ได้ออกกำลังกายสักวันจะรู้สึกไม่ค่อยสดชื่นเท่าที่ควร ซึ่งเป็นความจริง (เพราะร่างกายไม่ได้หลั่งสารสุข ‘เอนเดอร์ฟินส์’ ออกมา) อย่างไรก็ตาม แม้การออกกำลังกายจะมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายมากมายนานัปการ แต่ก็มีหลายกรณีที่เราควรระมัดระวัง หรืองดออกกำลังกายชั่วคราว ในภาวะใดภาวะหนึ่งต่อไปนี้คือ

1.เจ็บป่วยไม่สบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นไข้หรือมีอาการอักเสบที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย


2.หลังจากฟื้นไข้ใหม่ ๆ ที่ร่างกายอ่อนเพลียอยู่ หากออกกำลังกายในช่วงนี้ จะทำให้ร่างกายยิ่งอ่อนเพลียและหายช้า
3.หลังจากกินอาหารอิ่มใหม่ ๆ เพราจะทำให้เลือดในระบบไหลเวียนถูกแบ่งไปใช้ในการย่อยอาหาร เพราะฉะนั้นเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนที่ออกกำลังกายก็จะลดลง ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนสมรรถภาพ และเป็นตะคริวได้ง่าย
4.ช่วงอากาศร้อนและอบอ้าวมาก เพราะร่างกายจะสูญเสียเหงื่อและน้ำมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือเป็นลมหมดสติได้ (สำหรับผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแกร่งจริงอย่างนักกีฬา)

อาการที่บ่งบอกว่าควรหยุดออกกำลังกาย

ในบางกรณีที่ร่างกายอาจอ่อนแอลงไปชั่วคราว เช่น ภายหลังอาการท้องเสีย อดนอน การออกกำลังกายที่เคยทำอยู่ตามปกติอาจจะกลายเป็นหนักเกินไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากมีอาการดังกล่าวต่อไปนี้ แม้เพียงอาการเดียวหรือหลายอาการ ควรจะหยุดออกกำลังกายทันที นั่นคือ

1.รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ
2.มีอาการใจเต้นผิดปกติ
3.อาการหายใจขัดหรือหายใจไม่ทั่วถึง


4.อาการเวียนศีรษะ
5.อาการคลื่นไส้
6.อาการหน้ามืด
7.ชีพจรเต้นเร็วกว่า 140 ครั้งต่อนาที (ในผู้สูงอายุ) หรือ 160 ครั้งต่อนาที (สำหรับหนุ่มสาว)

จำไว้ว่าหากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ต้องหยุดออกกำลังกายทันที และนั่งพักหรือนอนพักจนหายเหนื่อย และไม่ควรออกกำลังต่อไปอีกจนกว่าจะได้ไปพบแพทย์ หรือจนกว่าร่างกายจะมีสภาพแข็งแรงตามปกติ

ที่มา : thaihealth.or.th

ติดตามเรา

spot_img

Related Articles